คำนวณระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)ออนไลน์


คำนวณระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)ออนไลน์
รายละเอียด : การตรวจ Fasting blood sugar (FBS) คือ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหาร 8 ชม. [โดยสามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ] เพื่อใช้ในการคัดกรอง และวินิจฉัยผู้ที่มีอาการแสดงหรือมีปัจจัยเสี่ยงเป็นเบาหวาน นอกจากนั้นใช้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อประเมินผลการรักษา และตรวจป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดสูง [hyperglycemia] หรือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ [hypoglycemia] เกินไปในผู้ป่วยเบาหวาน

การตรวจ FBS สำคัญอย่างไร

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชม. (FBS) เป็นการบอกระดับน้ำตาลที่อยู่ในเลือดโดยปกติแล้ว หลังจากการรับประทานอาหาร ร่างกายจะดูดซึมที่ลำไส้เล็กและนำไปใช้ทั่วร่างกาย โดยน้ำตาลกลูโคส (glucose) เป็นแหล่งพลังงานแรกที่ร่างกายนำไปใช้ โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญคือ ระบบสมองและระบบประสาท ซึ่งฮอร์โมนที่เป็นตัวนำ น้ำตาลไปให้ร่างกายใช้เป็นพลังงานได้นั้นคือ ฮอร์โมนอินซูลิน แต่หากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินนี้หรือดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ซึ่งพบในผู้ป่วยเบาหวาน จะทำให้น้ำตาลอยู่ในกระแสเลือด ไม่สามารถนำไปให้อวัยวะต่างๆในร่างกายใช้ได้ ซึ่งการมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้ส่งผลต่อโรคแทรกซ้อน เช่น ตาเสื่อม ไตเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจ และระบบประสาทเสื่อมตามมา หากร่างกายมีระดับน้ำตาลต่ำมาก สามารถอันตรายต่อสมองและระบบประสาทถูกทำลาย และอาจมีผลต่อชีวิตได้ ดังนั้นการตรวจวัดระดับน้ำตาลด้วยวิธีนี้ จึงสามารถบอกถึงระดับน้ำตาลที่ถูกต้องในช่วงเวลานั้นๆได้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆได้ทันท่วงที

ตรวจบ่อยแค่ไหน

การตรวจ FBS นี้ใช้ตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน เนื่องจากภาวะโรคนี้อาจจะไม่แสดงอาการให้เห็นเด่นชัด หรืออาจไม่แสดงอาการของโรคให้ทราบก่อน (asymptomatic) สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน น้ำหนักเกินหรืออ้วน (BMI≥25 kg/m²) และอายุ 45 ปีขึ้นไป เป็นต้น ควรตรวจประจำปี รวมถึงผู้ที่แสดงอาการน้ำตาลในเลือดสูง หรือน้ำตาลในเลือดต่ำ [สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซด์ yaandyou หัวข้อ “รอบรู้เรื่องโรค เบาหวาน” ]
หากผลการตรวจปกติ น้อยกว่า 100 mg/dL (หน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ให้ตรวจอย่างน้อยทุกๆ 3 ปี หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือหากพบมีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน (prediabetes) ให้ตรวจทุกๆ 1 ปี

คำนวณระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)ออนไลน์
mg/dL

ค่าผิดปกติ

        1.  ค่าน้อยกว่าปกติ คือ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 60 mg/dL 

          คือภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) อาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการได้ แต่อันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะสมองและระบบประสาทและอาจถึงชีวิตได้ หากแสดงอาการ เช่น เหงื่อออก (Sweating), หิว, ตัวสั่น (Trembling), วิตกกังวล (Anxiety), สับสน (Confusion), ตาพร่ามัว (Blurred Vision) และหากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมาก อาจจะเป็นลม (fainting) และหมดสติได้ (unconsciousness)

สามารถเกิดมาจากสาเหตุดังนี้

  • อาจเกิดสภาวะ Insulinoma เกิดจากการผลิตอินซูลินออกมามากเองโดยอัตโนมัติ
  • อาจเกิดสภาวะ Hypothyroidism ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป ทำให้เกิดการเผาผลาญกลูโคสได้มากเกินไปจนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำตลอดเวลา
  • อาจเกิดจากมีภาวะโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือติดเชื้อ อย่างรุนแรง (Critical illnesses)
  • อาจเกิดจากการได้รับยาอินซูลินมากเกินขนาด ให้พิจารณาว่าฉีดอินซูลินผิดขนาดหรือไม่ หรือเป็นช่วงที่ได้รับการปรับเปลี่ยนขนาดยาอินซูลินมากขึ้นจากแพทย์ แม้ว่าจะรับประทานอาหารในปริมาณตามปกติก็ตาม ให้พิจารณาปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อไป
  • อาจเกิดจากการ อดอาหาร หรือรับประทานอาหารน้อยลงกว่าเดิม
  • อาจเกิดจากการได้รับยาลดระดับน้ำตาลเกิดขนาดที่แพทย์สั่ง หรือรับประทานร่วมกับยา หรือสมุนไพรบางชนิด หรือแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ดังนั้นหากได้รับยาหรือสมุนไพรหรือวิตามินที่จำเป็นอื่นๆเพิ่ม ให้พิจารณาแจ้งแพทย์ผู้รักษาก่อนรับประทานเสมอ เพื่อใช้ในการประเมินการปรับเปลี่ยนขนาดและชนิดการรักษาโรคเบาหวานให้เหมาะสมต่อไป

การจัดการ

  • บรรเทาอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ สำหรับผู้ที่มีอาการแสดงและมีสติรับรู้ได้ คือ จิบน้ำหวานผสมน้ำ ค่อยๆจิบจนอาการดีขึ้น หรือ อมลูกอม ซึ่งในผู้ป่วยเบาหวานควรพกลูกอมไว้ติดตัว เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่หากเป็นบ่อยต้องแจ้งแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป
  • แต่สำหรับผู้ป่วยไม่มีสติ หรือแสดงอาการรุนแรง ผู้ดูแลต้องรีบพาส่งโรงพยาบาลโดยด่วน พร้อมนำยาที่ผู้ป่วยได้รับไปด้วยทั้งหมดเพื่อเป็นการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องต่อไป
  • หาสาเหตุ พร้อมทั้งจัดการสาเหตุตามข้างต้น หากไม่ดีขึ้นให้พบแพทย์


       2.  ค่ามากกว่าปกติ 

2.1    สำหรับผู้ที่ตรวจคัดกรองครั้งแรก

2.1.1    ค่าช่วง 100 ถึง 125 mg/dL

  • แสดงโอกาสมีความเสี่ยงการเป็นเบาหวานในอนาคต

การจัดการ

    • ลดน้ำหนักด้วยวิธีที่เหมาะสม เพิ่มการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน   5 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น การออกกำลังกาย การเดินเร็ว ซึ่งควรเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล
    • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดอาหาร ประเภทให้พลังงาน เช่น คาร์โบไฮเดรต [ข้าว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน น้ำตาล แอลกอฮอล์], อาหารไขมัน [กะทิ นม เนย ไขมันสัตว์ ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่] เป็นต้น
    • ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อพิจารณาแนวทางการรักษา และเพื่อตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งต่อไป

2.1.2    ค่าช่วงมากกว่าหรือเท่ากับ 126 mg/dL

สามารถเกิดมาจากสาเหตุดังนี้

  • มีภาวะเป็นเบาหวาน [ค่าดังกล่าวจะมีการตรวจยืนยันผลด้วยการวัดมากกว่า 1 ครั้ง หรือการตรวจ HbA1c (Hemoglobin A1c) ร่วมด้วย เพื่อยืนยันผลการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เสมอ] อาจแสดงอาการของโรคหรือไม่ก็ได้ เช่น หิวน้ำมาก และปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ เหนื่อยง่าย ตาพร่ามัว ปวดหัว หากมีแผลเปิดพบว่าแผลหายช้า
  • อาจเกิดจากความเครียด ภาวะอารมณ์มีบทบาทในการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในร่างกาย
  • อาจเกิดจากภาวะโรค (acute stress) การติดเชื้อ หรือผ่าตัด มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหลายๆชั่วโมง
  • ภาวะไทรอยด์สูง, โรคไตเรื้อรัง, ตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis), Cushing’s syndrome, acromegaly
  • ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ เป็นต้น ดังนั้นหากท่านได้รับยา หรือสมุนไพรใดๆอยู่ ให้แจ้งแพทย์ให้ทราบทุกครั้ง

การจัดการ
  • สอบถามหรือพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมแจ้งสาเหตุที่คาดว่าเป็นสาเหตุของท่านให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาให้เหมาะสมต่อไป

2.2    สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน

  • ค่าช่วงมากกว่า 130 mg/dL
    •  อาจแสดงอาการของโรคหรือไม่ก็ได้ เช่น หิวน้ำมาก และปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ เหนื่อยง่าย ตาพร่ามัว ปวดหัว หากมีแผลเปิดพบว่าแผลหายช้า

การจัดการ

      • ลดน้ำหนักด้วยวิธีที่เหมาะสม เพิ่มการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น การออกกำลังกาย การเดินเร็ว ซึ่งควรเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล
      • และ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดอาหาร ประเภทให้พลังงาน เช่น คาร์โบไฮเดรต [ข้าว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน น้ำตาล แอลกอฮอล์], อาหารไขมัน [กะทิ นม เนย ไขมันสัตว์ ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่] เป็นต้น
      • และ รับประทานยาตามแพทย์สั่ง และพบแพทย์ตามนัด ทุก 3 หรือ 6 เดือน ตามที่แพทย์แจ้ง เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาให้เหมาะสม
      • ปรึกษาแพทย์ต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนการรักษาที่เหมาะสม และตรวจร่างกายเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน เช่น ตา, ไต, หัวใจ, ระบบประสาท
    • หากในรายที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก เช่น มากกว่า 250 mg/dL (Diabetic Ketoacidosis; DKA) อาจแสดงอาการ ปัสสาวะบ่อย ปากแห้งผิวแห้ง เหนื่อยง่าย คลื่นไส้อาเจียนโดยเฉพาะการอาเจียนติดต่อกันมากกว่า 2 ชม. หรือปวดท้อง หายใจสั้นและถี่ กลิ่นลมหายใจเป็นผลไม้ (Fruity odor on breath)  สับสน และอาจหมดสติ ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ การจัดการ
      • ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด


ข้อควรทราบ

  1. หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และสามารถอ่านข้อมูลเรื่องโรคเบาหวานเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซด์ yaandyou นี้ที่ หัวข้อ “รอบรู้เรื่องโรค เบาหวาน”
  2. การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานนั้น อาจจะตรวจด้วยการวัด Hb A1c (Hemoglobin A1c) เท่านั้นหรือ ร่วมกับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (FBS) ก็ได้ขึ้นกับดุลพินิจจากแพทย์
  3. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (FBS) สามารถบ่งบอกถึงระดับน้ำตาลในช่วงขณะนั้น แต่ไม่สามารถประเมินผลการรักษาในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้ ดังนั้นอาจจะไม่ทราบถึงสภาวะของโรคในระยะยาวที่ผ่านมาของท่านที่ชัดเจนนัก ดังนั้นการตรวจ HbA1c ยังสำคัญกับผู้ป่วยเบาหวานเสมอ
  4. ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง และ ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งทั้งสองอาการนั้นหากรุนแรง ผู้ป่วยจะไม่สามารถรู้ตัวเองได้ หรือหมดสติ ดังนั้นนอกจากผู้ป่วยต้องทราบแล้ว ผู้ดูแลเป็นส่วนที่สำคัญที่ต้องทราบด้วยเช่นกัน เพื่อทำการดูแลจัดการได้ทันท่วงที